หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร (25 สิงหาคม พ.ศ. 2474 – 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556) ทรงเป็นจิตรกรหญิงชาวไทยซึ่งทรงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะ เนื่องจากผลงานของท่านสะท้อนถึงความหลากหลายของตัวงานและเอกภาพทางจิตวิญญาณ
หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ทรงเป็นพระธิดาพระองค์เดียวในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธ์ทิพย์ บริพัตร (สกุลเดิม เทวกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ณ วังบางขุนพรหม (ปัจจุบันเป็นที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย) สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 สิริพระชันษา 81 ปี
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2475 หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ตามเสด็จครอบครัวไปประทับที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียและต่อไปยังประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสเสด็จเข้าโรงเรียนที่ประเทศอังกฤษ ก่อนเสด็จกลับประเทศไทยและทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ชั้นประถมปีที่ 4 ในปีพ.ศ. 2483 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยต้องย้ายสถานศึกษาไปที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบครัวหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตรก็ได้อพยพ ไปประทับที่บ้านบ่อจืด ซึ่งเป็นตำหนักส่วนพระองค์ของพระบิดาที่ ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน และทรงจักรยานไปโรงเรียนซึ่งอยู่บริเวณพระราชวังไกลกังวลทุกวัน จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงจึงเสด็จกลับกรุงเทพฯ และมาทรงศึกษาต่อโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย หลังจากทรงจบการศึกษาในระดับมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยแล้ว ท่านได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสเปน ได้รับปริญญา Docteur 's Lettres สาขาวรรณคดี จากมหาวิทยาลัยปารีส ในปี พ.ศ. 2497 และต่อมาได้ทรงรับปริญญาเอกสาขา ประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ประเทศสเปน ในปี พ.ศ. 2502
หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ทรงสมรสกับ ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Jacques Bousquet ซึ่งเคยไปทำงานประจำ ณ ยูเนสโก กรุงมาดริด ประเทศสเปนอยู่ระยะหนึ่งแต่เมื่อได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง จึงทรงย้ายไปประทับ ณ กรุงปารีส ต่อมาได้เสด็จไปทรงแสดงภาพตาม พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่าง ๆ ทางใต้ของประเทศฝรั่งเศส และได้เสด็จไปพบเมืองเล็กๆ ชื่อ Annot ซึ่งอยู่ในภูเขาบริเวณ Alpes de Haute Provence ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Nice ก็ทรงตกหลุมรักในเสน่ห์ของเมือง Annot และตัดสินพระทัยไปซื้อที่ดินบนเนินเขานั้นสร้างสตูดิโอและประทับเป็นตำหนักถาวรที่นั่นตั้งแต่พ.ศ. 2513 จนถึงชีพิตักษัย
หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ทรงสอนวิชาศิลปะโลกตะวันออกไกลในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาดริด และเมื่อเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ได้เคยไปทรงสอนเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมตะวันตกอยู่ระยะหนึ่ง
แม้ว่า หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร จะทรงแสดงว่า 'มีแวว' ในด้านศิลปะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ก็มิได้เข้าสู่วงการศิลปะอย่างจริงจังจนพระชนมายุราว 30 ปี จึงได้ทรงเริ่มศึกษาด้วยพระองค์เองจากงานศิลปะของบรรดาศิลปินต่างๆ เช่น ได้ทรงรับคำแนะนำในหลัก การวาดภาพจิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และเทคนิคการใช้สีจากเพื่อนศิลปิน Andr Poujet และอีกหลายท่าน จนได้ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะของพระองค์เองและเข้าร่วมกลุ่มศิลปินในประเทศฝรั่งเศสจัดแสดงภาพในนิทรรศการ 'Salon Comparaisons' ณ 'Muse de l’ Art Moderne' ในกรุงปารีสหลายครั้ง ตั้งแต่พ.ศ. 2507-2515 และร่วมกับศิลปินกลุ่ม 'l’ Art Fantastique' ในนิทรรศการ 'Figuratif de l’ Imaginaire Surreal' ซึ่งเป็นงานศิลปะที่แสดงอารมณ์ ความนึกคิด และจินตนาการในลักษณะที่ท่านโปรด ในประเทศไทยได้จัดแสดงที่หอศิลป์พีระศรีในกรุงเทพฯ เมื่อหอศิลป์พีระศรีสร้างเสร็จใหม่ ๆ
ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ สะท้อนถึงความหลากหลายของตัวงานและเอกภาพทางจิตวิญญาณ ผลงานฝีพระหัตถ์ของท่านหญิงมารศรีมีความหลากหลายตามช่วงเวลา จิตรกรรมชิ้นแรกๆ (ช่วงพ.ศ. 2503-13/ ค.ศ. 1960-70) ใช้สีเอกรงค์ขาว-ดำเป็นหลักและมุ่งเน้นที่ตัววัตถุคล้ายกับภาพเขียนหมึกจีน ได้แก่ ภาพทดลองวาดลักษณะผิว ลักษณะรูปทรงโขดหิน ผลึกหินชนิดต่างๆ จากนั้นจึงจัดวางฉากประกอบโขดหินพร้อมทั้งจัดแสง เช่นเดียวกับหินในฉากหลังของภาพวาดของเลโอนาร์โด ดา วินชี
ครั้นต่อมา (พ.ศ. 2513-23/ ค.ศ. 1970-80) จึงถึงคราวที่พวกโขดหินที่จัดแสงเงาไว้นี้จะต้องกลายเป็นฉากประกอบเพื่อให้รับกันกับบุคคลที่เป็นแบบ ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าฝีพระหัตถ์ในการวาดภาพดอกไม้ ได้พัฒนายิ่งขึ้นและคราวนี้นำไปสู่แนวทางที่เน้นการเล่นสีหลากหลายอย่างแทบจะเป็นหลัก จนราวกับไม่ทรงสนพระทัยกับความตื้นลึก องค์ประกอบภาพและเงาไปเลยเป็นการชั่วคราว จากนั้นผลงานของท่านหญิงจึงเริ่มเบ่งบาน ทั้งขนาดภาพที่ใหญ่ขึ้น ใช้สีหลากหลายกว่าเดิม องค์ประกอบภาพขนาดใหญ่และซับซ้อนยิ่งขึ้น การมุ่งจับเนื้อหาอันจำกัดไม่หลากหลายแต่นำมาแปรผันไปต่าง ๆ กอปรกับตัวละครและคุณลักษณะเชิงสัญลักษณ์ ได้เปิดทางให้ท่านหญิงได้ทรงค้นพบกฎเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดองค์ประกอบภาพขนาดใหญ่
ต่อมาเป็นช่วงผลงานสำคัญ (พ.ศ. 2523-46/ค.ศ. 1980-2003) ที่เปี่ยมด้วยความหลากหลาย ทั้งขนาดภาพ เนื้อหาและองค์ประกอบภาพ ภาพฝีพระหัตถ์ขนาดเล็กมีเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์หรือดอกไม้ เช่น ช้าง แมว ลูกสุนัข ดอกไม้และช่อดอกไม้ ในขณะที่ภาพขนาดกลางมีเนื้อหาผสม เช่น นกแก้วที่ประกอบด้วยดอกไม้ (มีอย่างน้อยห้าภาพ) มนุษย์ซึ่งอยู่เดียวดายท่ามกลางดอกไม้ การประจันหน้าระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (ซึ่งมักจะเป็นม้ายูนิคอร์น) และแมวหลายคู่ท่ามกลางอาคารสถานที่หรือธรรมชาติ ส่วนภาพขนาดใหญ่ (ผลงานชิ้นเอก) นั้น ทรงจัดวางสัตว์กลุ่มย่อยๆ ดอกไม้ ต้นไม้ อาคารและมนุษย์ ให้อยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมอันวิจิตรและมีน้ำหนักสมดุลอย่างยิ่ง เอกภาพเป็นแนวคิดหลักในผลงานของท่านหญิงมารศรีสุขุมพันธุ์ ด้านหนึ่งคือเอกภาพในการใช้เทคนิค เช่น เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ อันเป็นการแสดงออกที่ซับซ้อนและทรงพลังยิ่งขึ้นกว่าเดิม อีกด้านหนึ่งคือเอกภาพของเนื้อหา เช่น สัตว์ต่างๆ ดอกไม้และมนุษย์ ที่มักจะโดดออกมาจากทิวทัศน์อันซับซ้อนมากน้อยตามความสำคัญและขนาดของภาพ
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ตั้งแต่หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ประชวรลงใน ปี พ.ศ. 2547 ทำให้ท่านไม่ทรงสามารถวาดภาพได้เหมือนเดิม ก่อนที่จะประชวร ได้ทรงปรารภว่ามีพระประสงค์จะรวบรวมผลงานทั้งหมดของท่านไว้ด้วยกัน โดยจะสร้างเป็นแกลเลอรีที่เชิงเขาบริเวณตำหนักของท่านที่ Annot เพื่อให้ผู้ที่ สนใจได้มาเยี่ยมชมภาพ และเป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะต่อไป บัดนี้ท่านได้ประชวรลง จึงมีพระประสงค์ให้หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ลูกพี่ลูกน้องที่ได้เอื้อเฟื้อดูแลท่านอยู่ จัดตั้ง "มูลนิธิหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร" เพื่อดำเนินการต่อไปตามพระประสงค์ โดยเริ่มจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและจะได้จัดแสดงต่อไปตามวาระที่เหมาะสม
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์_บริพัตร